|
ด้วยทรงทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน เป็นระยะเวลาอันยาวนาน อันเกิดจากการขาดแคลนพื้นที่ป่าไม้ และด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงเชื่อมั่นว่า หากสร้างป่าให้กับภาคอีสานได้ ความชุ่มชื้นจะกลับคืนสู่แผ่นดินที่แห้งแล้งในวันนี้อย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลนี้เอง ที่นำมาสู่พระราชดำริที่ว่า ฉันจะปลูกป่า ไม่เพียงแต่จะทรงริเริ่มโครงการป่ารักน้ำขึ้นในภาคอีสาน เพื่อรวมน้ำใจให้ทุกผู้คนในท้องถิ่นได้เห็นถึงความสำคัญของป่าไม้เท่านั้น ณ ทุกหนแห่งที่แห้งแล้ง ก็จะทรงมี พระราชเสาวนีย์ให้ปลูกป่าทดแทน โดยทรงเริ่มตั้งแต่พื้นที่รอบพระตำหนักภูพาน ราชนิเวศน์ |
||
นับตั้งแต่ ปี ๒๕๒๖ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริให้ทำการปรับปรุงพื้นที่รอบๆ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้บริเวณรอบพระตำหนักเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ป่า ไม้ประดับ เพื่อเป็นการเสริมให้กลมกลืนกับธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ให้เกิดความสวยงาม และให้ป่า ได้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ให้ความชุ่มชื่นกับพื้นดิน ในวันนี้ บริเวณภายในตำหนักและบริเวณรอบพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ กำลังเขียวครึ้มไปด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่น้อย กำลังเติบโตขึ้นภายใต้การบำรุงรักษา กำลังเติบโตไปสู่ระบบป่าธรรมชาติตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อความชุ่มชื้นเริ่มแผ่กระจายภายใต้ร่มเงาของไม้ทุกต้น ที่ปลูกมาตั้งแต่ ปี ๒๕๒๗ บางต้นก็ออกดอกออกผลพอที่จะเป็นอาหารของสัตว์ป่าได้แล้ว ในปี ๒๕๓๓ ก็ทรงปล่อยสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติแห่งนี้ ด้วยลำต้น กิ่งก้าน และใบ ที่ค่อยๆ เติบโตกันของต้นไม้นับแสนต้น ต่างช่วยกันสร้างให้ป่ารอบพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ที่สำคัญของจังหวัดสกลนคร ได้เริ่มสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนแผ่นดินภายใต้ร่มเงาของป่า ความแห้งแล้งค่อยๆ ลดลง สัตว์ป่าเริ่มกลับคืนสู่ความร่มเย็นของป่าที่ได้รับพระเมตตาบารมีจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเป็นผู้ฟื้นฟูความสมดุลแห่งระบบนิเวศน์คืนให้กับป่าธรรมชาติได้อีกครั้ง
|
|||
|
|||
หลายปีมาแล้ว ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชปรารภกับผู้ใกล้ชิดว่า ในภาคอีสานนั้น มีพรรณไม้เล็กๆ สวยงาม ตามท้องทุ่ง ซึ่งไม่เคยทอดพระเนตรเห็นในภาคอื่นๆ เลย โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร ในบริเวณที่ตั้งพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ใกล้ๆ กับเชิงเขา จะมีดอกหญ้าป่าเล็กๆ ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นสีม่วงและสีน้ำเงินสด มีกลิ่นหอม และจะบานสะพรั่งไปทั่วทั้งทุ่งเป็นลานกว้าง ในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว และทรงพระราชทานนามดอกไม้ป่าดอกเล็กๆ นี้ว่า ดอกดุสิตตา |
|||
|
ณ บริเวณพื้นที่ใกล้ๆ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ในเนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ คือบริเวณที่เกิดของทุ่งดอกไม้ป่าเล็กๆ หลากสี โดยเฉพาะจะลาลานตาด้วยสีม่วง ของดอกดุสิตาที่ได้ทรงพระราชทานชื่อให้ และ ณ บริเวณลานดุสิตานี้ จะเป็นที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อน พระอิริยาบท ในตอนเย็นระหว่างที่ประทับแรม ณ พระที่นั่งภูพานราชนิเวศน์ อยู่เสมอๆ ในปี ๒๕๒๗ เมื่อได้พระราชทานพระราชดำริให้ปลูกป่าเสริมพื้นที่รอบพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ นั้น ก็มีพระราชดำริให้ปลูกดอกไม้ป่าและไม้ประดับเสริมธรรมชาติบริเวณลานดุสิตา และลานหินใหญ่ด้วย โดยทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ว่าจ้างราษฎรเป็นแรงงานปรับปรุง ปัจจุบัน ลานดุสิตานี้ จะบานสะพรั่งด้วยดอกไม้ป่าเล็กๆ หลากสี ตั้งแต่สีม่วง น้ำเงินสด ขาวอมม่วง และสีเหลือง ซึ่งได้พระราชทานชื่อดอกไม้หลากสีนี้ นอกเหนือไปจากดอกดุสิตาว่า มณีเทวา สรัสจันทร์ และสร้อยสุวรรณา ดอกไม้หลากสีเหล่านี้ ต่างชูช่อเล็กๆ ปะปนกับดอกกระดุมเงิน เหนือดอกหยาดน้ำค้างที่บานติดกับพื้นดิน เป็นวงกลม สีแดงเรื่อๆ อมส้ม ที่ผิวมีขนเล็กๆ และตุ่มน้ำใสๆ ทำให้ดูคล้ายเป็นหยาดน้ำค้างตลอดเวลา นี่คือ คุณค่าที่ทรงสร้างขึ้นไว้กับดอกไม้ป่าเล็กๆ หลากสีของท้องทุ่งอีสาน และเพื่อความชุ่มชื่นแก่ผืนแผ่นดินไทย
|
| ประปาไทย.คอม | มหาราชินีกับทรัพยากรน้ำ | โครงการป่ารักน้ำ | ลานดุสิตา | สวนหาดทรายใหญ่ | พระราชดำรัส |
ขอบคุณข้อมูล :
- ด้วยพระบารมีสู่ธรรมชาติและชีวิต, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ฉลองรัตน, กรุงเทพฯ, ๒๕๓๕.
- กินตามแม่, กองโภชนาการ กรมอนามัย