โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ








การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่า เป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกร ทำการเพาะปลูกได้อย่าง สมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่ สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการเป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ มากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ "น้ำคือชีวิต" ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ความว่าตอนหนึ่ง

 "...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้..."

หลักและวิธีการที่สำคัญของการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

  • การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับราย ละเอียดสภาพ ภูมิประเทศเสมอ
  • การพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ต้องเหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีในแต่ละท้องถิ่นเสมอ
  • พิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้น จะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม

ด้วยเหตุนี้การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่งจึง พระราชทานพระราชดำริไว้ว่า ราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับประโยชน์จะ ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือ ผู้ที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นพระบรมราโชบาย ที่มุ่งหวังให้ราษฎรมีส่วนร่วมกับรัฐบาล และช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคมของตนเองและ มีความหวงแหน ที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี 5 ประเภท

1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และอุปโภค บริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำ
2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
4. โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
5. โครงการบรรเทาอุทกภัย     

อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ก็มีการพัฒนา แหล่งน้ำหลายๆ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่าง พร้อมกันไป โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว พอสรุปได้ดังนี้

  • ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ช่วยให้ได้ผลิตผลมากขึ้น และสามารถทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้ เป็นการช่วยให้ราษฎร มีรายได้มากขึ้น
  • ในบางท้องที่เคยมีน้ำท่วมขัง จนไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น บริเวณขอบพรุ ทำให้พื้นที่แห้งลงจนสามารถจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเข้าทำกินได้ ช่วยให้ไม่ไปบุกรุกทำลายป่าหาที่ทำกินแห่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติไว้ได้
  • เมื่อมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ไว้ ก็มีการปล่อยพันธุ์ปลา ทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง สามารถมีปลาบริโภคภายในครอบครัว หรือเสริมรายได้ขึ้น
  • ช่วยให้ราษฎรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่าง พอเพียงตลอดปี ทำให้ราษฎรมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และยังช่วยให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย
  • บางโครงการจะเป็นประเภท เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่ เช่น กทม. และปริมณฑล ช่วยลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐบาลเป็นอันมาก
  • โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จะช่วยให้ราษฎรที่อยู่ในป่าเขาในท้องที่ทุรกันดารได้มีไฟฟ้าใช้ สำหรับแสงสว่างในครัวเรือนได้บ้าง
  • โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ โดยการสร้างฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธาร เป็นชั้นๆ พร้อมระบบกระจายน้ำจากฝายต่างๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธาร ทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และป่าไม้ตามแนวสองฝั่งลำธาร เขียวชอุ่มตลอดปี ลักษณะเป็นป่าเปียกสำหรับป้องกันไฟป่าเป็นแนว กระจายไปทั่วบริเวณต้นน้ำ ลำธาร ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ต่อไป

กล่าวได้ว่างานพัฒนาแหล่งน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำทุกอย่างทุกขั้นตอน ดังที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด เล่าในประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5-10 ตุลาคม 2538 ดังนี้

"...งานของพระองค์ท่านมีตั้งแต่ ถ้าน้ำขาดแคลน ก็จัดหาน้ำ และเมื่อน้ำท่วม น้ำมาก ก็จัดการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อมีน้ำเน่าเสีย ก็ต้องมีการจัดการทำงานด้านน้ำทั้งหมด ท่านจะทราบปัญหาอย่างละเอียด...."
 

[ประปาไทย.คอม] [น้ำกับในหลวง] [โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ] [พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ]  [พระราชดำรัสเรื่องการจัดการน้ำ หน้า 1 หน้า 2]

ขอบคุณแหล่งข้อมูล:

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาการเกษตรไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พลับบลิชชิ่ง, กรุงเทพมหานคร, ธันวาคม 2539.
  • เครือข่ายกาญจนาภิเษก http://www.kanchanapisek.or.th