พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ

 
ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ในพุทธศักราช 2539 คณะรัฐบาลไทย ได้เทิดพระเกียรติคุณในฐานะที่มี พระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาทัพยากรน้ำ โดยได้ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ณ ศาลาดุสิตดาลัย พระตำหนักจิตลดารโหฐาน ดังคำกราบบังคมทูล โดยนายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรี ว่า

“ด้วยประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงตะหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรน้ำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “น้ำคือชีวิต” อีกทั้งยังได้พระราชทานโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก โดยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ทั้งจากเอกสาร และรายงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ ทรงศึกษารายละเอียดจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศถึงพิกัดที่ตั้งหมู่บ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกล และเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจสภาพพื้นที่ภูมิประเทศจริง ทรงกำหนดโครงการต่างๆ ขึ้นบนแผนที่ จากนั้น พระราชทานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎร และทำให้ราษฎรได้มีน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และทำการเกษตรตามความต้องการอย่างเพียงพอในทุกฤดูกาล

ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องน้ำ ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มิใช่แต่งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำเท่านั้น แต่ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ อาทิการระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม กรณีพื้นที่นั้นเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ การป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยตลอดจนการแก้ไขบำบัดน้ำเน่าเสีย

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพ ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในงานพัฒนาแหล่งน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำ ข้าพระพุทธเจ้า ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยทั้งมวล จึงพร้อมใจกันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต น้อมเกล้า น้อมกระหม่อม ถวายพระราชสมัญญาแด่ใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาทว่า “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ”

นื่องในมหามงคลสมัยที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงครองราชสมบัติ ครบ 50 ปี ณ พุทธศักราช 2539 รัฐบาลจึงได้จัดทำ “พญานาคเจ็ดเศียร” อันถือเป็น สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรน้ำ ซึ่งหนัก 2,522 กรัม ประดับ ด้วยทับทิม และพลอยนพรัตน์ 22 เม็ด เพชร 0.62 กะรัต พร้อมทั้งได้จัดพิมพ์ หนังสือเฉลิมพระเกียรติ ชื่อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการจัดการ ทรัพยากรน้ำ” ขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ แด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในฐานะ ที่ทรงมีพระมหากรุธาธิคุณพัฒนาทรัพยากรน้ำซึ่งอำนวยประโยชน์แก่แผ่นดินไทย และนำความผาสุกมาสู่พสกนิกร โดยทั่วหน้า ในวโรกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวาย “พญานาคเจ็ดเศียรทองคำ” และหนังสือเฉลิมพระเกียรติ ต่อจากนั้น ขอได่้ทรงพระกรุณา พระราชทานพระบรมราโชวาท แนวพระราชดำริ ในการจัดการ ทรัพยากรน้ำ เพื่อความเป็นศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล และเป็นแนวทาง ปฏิบัติแก่ปวงข้า พระพุทธเจ้าสืบไป

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ"

[ประปาไทย.คอม] [น้ำกับในหลวง] [โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ] [พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ]  [พระราชดำรัสเรื่องการจัดการน้ำ หน้า 1 หน้า 2]

ขอบคุณแหล่งข้อมูล:

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาการเกษตรไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พลับบลิชชิ่ง, กรุงเทพมหานคร, ธันวาคม 2539.
  •  เครือข่ายกาญจนาภิเษก http://www.kanchanapisek.or.th